แนวทางการจัดกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ

Published on
11 Jan 2022
Contributors
นายแพทย์ เตชิต เตชะมโนดม
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต การวิจัยและการจัดการด้านสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แพทย์ประจำบ้านอาชีวเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
Subscribe to our newsletter
Thank you! Your submission has been received!
Oops! Something went wrong while submitting the form.
ปัจจุบันแนวโน้มของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของไทย ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทย ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือประมาณร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้แบ่งเป็น ร้อยละ 9 ในการรักษาโรค และร้อยละ 91 ในการสูญเสียอันเนื่องมาจากภาวะขาดงาน 
สาเหตุหลักโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มักเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ เช่น
  • การบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์
  • การเพิ่มกิจกรรมทางกาย
  • การลดละเลิกยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การศึกษาที่ผ่านมาพบว่าพนักงานในสถานประกอบการที่มีน้ำหนักเกิน หรือมีโรคประจำตัว รวมทั้งภาวะเครียด มักมีการลาป่วย หรือมีอาการบาดเจ็บในที่ทำงานสูงกว่าพนักงานที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และเมื่อพนักงานป่วยก่อให้เกิดการสูญเสียเนื่องจากการขาดงาน ภาวะทำงานไม่เต็มความสามารถ ก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เสียไป ทั้งจากค่าใช้จ่ายทางตรง เช่น ค่ารักษา ป้องกัน ควบคุม และค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น การลดผลิตผลการทำงาน 

โดยเฉลี่ยพนักงานใช้เวลาอยู่ในสถานประกอบการ มากกว่า 8 ชั่วโมง หรือ 1 ใน 3 ของแต่ละวัน ดังนั้นที่ทำงานหรือสถานประกอบการจะส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพ วิถีชีวิต และเป็นสถานที่ที่มีโอกาสจะโน้มน้าวพฤติกรรม รวมทั้งสร้างเสริมสุขภาพให้แก่พนักงานได้

โดยมีคำแนะนำจาก เครือข่ายคนไทยไร้พุงฯ ถึงการดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการไว้

6 องค์ประกอบสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ
  1. Healthy Policy องค์ประกอบแรกและสำคัญที่สุด นั่นคือ ผู้บริหารเล็งเห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพของพนักงานในองค์กร โดยการกำหนดนโยบาย และแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อรณรงค์ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 
  2. Healthy Workshop ให้คณะทำงานนำผลตรวจสุขภาพ สภาวะร่างกาย รวมถึงผลสำรวจความต้องการพนักงาน มาวิเคราะห์สภาพปัญหา ว่าพนักงานมีปัญหาสุขภาพ และต้องการความรู้ วิธีการดูแลสุขภาพด้านใดบ้าง และนำข้อมูลมาวางแผนการจัดการอบรมด้านการดูแลสุขภาพ ตามระดับความชุก ความรุนแรงของปัญหาให้พนักงานได้รับความรู้ ฝึกปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพได้ตรงจุด
  3. Healthy Canteen คือ การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้พนักงานนำความรู้ที่ได้มาใช้ในชีวิตประจำวัน ในสถานที่จริง โรงอาหารสร้างเสริมสุขภาพ คือ การปรับโรงอาหารให้เป็นแหล่งความรู้ และแหล่งที่พนักงานสามารถเลือกซื้ออาหารที่มีวิธีการปรุงหรือสัดส่วนที่ดีต่อสุขภาพมากินได้ในชีวิตจริง
  4. Healthy Space ปรับพื้นที่องค์กรให้เอื้อต่อการเพิ่มกิจกรรมทางกาย การเข้าถึงอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ภูมิทัศน์ที่ปลอดภัย โดยเริ่มจากสำรวจสถานที่ที่มีอยู่ เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการพัฒนา เช่น จัดที่สถานที่ออกกำลังกาย จัดที่ขายของ จัดมุมของว่างที่เป็นประโยชน์กับสุขภาพ
  5. Healthy Meeting ปรับการประชุมให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น ประชุมนอกสถานที่ มีการลุกขึ้นยืนเปลี่ยนอิริยาบถ ก้าวเดิน แสดงความคิดเห็น ขีด เขียน วาด ขยับร่างกาย มีการเดินไปดูแหล่งข้อมูลจริง แล้วค่อยกลับมานำเสนอ หรือหากเป็นการประชุมที่เป็นทางการ อาจมีกำหนดวาระการประชุมให้มีช่วงเบรก ทุก 50 นาที หยุดพัก 10 นาทีโดยแบ่งเป็น Exercise break ขยับร่างกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ Health Break ดื่มน้ำชา น้ำสมุนไพรหวานน้อยให้สดชื่น เสิร์ฟของว่างที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
  6. Healthy Tournament กิจกรรมให้พนักงานเข้ามีส่วนร่วม ใช้แนวคิดการแข่งขันที่สนุกสนานให้พนักงานได้รวมทีมตามสมัครใจ หรือตามหน่วยงาน มาแข่งกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเน้น “การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน” โดยผลลัพธ์ที่ต้องการคือ พนักงานมีสุขภาพ สมรรถภาพร่างกายเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น


เอกสารอ้างอิง

เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย. มาร่วมกันพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็น “Healthy Organization” กันเถอะ 2560.

2023 Health and Well-being Thailand • เจตน์ รัตนจีนะ • Jate Ratanachina. All rights reserved.