กิจกรรมทางกายกับการสร้างเสริมสุขภาพในที่ทำงาน

Published on
11 Jan 2022
Contributors
นัยเนตร เจริญผล
นักวิทยาศาสตร์การกีฬา และทีมวิจัยโครงการ “การศึกษาบทบาทและการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคไม่ติดต่อในสถานประกอบการของผู้นำองค์กรและผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคล”
Subscribe to our newsletter
Thank you! Your submission has been received!
Oops! Something went wrong while submitting the form.

กิจกรรมทางกาย คือ การเคลื่อนไหวร่างกายทุกรูปแบบในชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดการใช้และเผาผลาญพลังงานในร่างกาย รวมทั้งการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น

  1. การทำงาน เช่น การทำงานบ้าน ทำไร่ ทำสวน การยกของ
  2. การเดินทาง เช่น เดิน ขี่จักรยาน และ
  3. กิจกรรมนันทนาการ เช่น การเดินชมสวน การออกกําลังกายแบบต่าง ๆ และการเล่นกีฬา เป็นต้น

ปัจจุบันวัยทำงานมีวิถีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในที่ทำงาน

การนั่งทำงาน หรือนั่งประชุมนาน ๆ ทำให้วิถีชีวิตมีการออกแรงและเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง และการทำงานในลักษณะซ้ำ ๆ ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัว และการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นระยะเวลานาน ทำให้ วัยทำงานมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอและมีพฤติกรรมอยู่กับที่มากขึ้น

พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ในปัจจุบันมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงเหล่านี้ลงได้ ด้วยการมีกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรรมที่อยู่กับที่

  1. กิจกรรมสร้างความแข็งแรงให้หัวใจและระบบไหลเวียนเลือด เป็นกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายต่อเนื่อง เช่น เดิน วิ่ง ออกกําลังกาย ให้รู้สึกเหนื่อย ระดับปานกลาง 150 นาที/สัปดาห์ (สามารถแบ่งเป็นวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์) หรือระดับหนัก 75 นาที/สัปดาห์ (หากไม่ค่อยมีเวลา สามารถแบ่งทำสะสมเป็นช่วงครั้งละอย่างน้อย 10 นาที/ครั้ง) 
  2. กิจกรรมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ (ออกแรงต้านกับน้ำหนัก) อย่างน้อย 2 วัน/สัปดาห์ ฝึกได้โดยใช้อุปกรณ์ที่มีน้ำหนักหรือแรงต้าน เช่น ยกขวดน้ำ ลูกดัมเบล (ลูกน้ำหนัก) ดึงยางยืด เป็นต้น ควรฝึกซ้ำท่าละ 12-15 ครั้ง/ชุด ทำ 3 ชุดต่อวัน จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อ แข็งแรง ป้องกันการเสื่อมสภาพกล้ามเนื้อ รูปร่างกระชับได้สัดส่วนสวยงาม กระดูก และเอ็นยึดข้อต่อแข็งแรง 
  3. กิจกรรมสร้างความอ่อนตัว ยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อและข้อต่อ อย่างน้อย 2 วัน/สัปดาห์ เช่น การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ โยคะ เป็นต้น โดยให้ค้างไว้ 10 - 15 วินาที/ท่า จะช่วยเพิ่มมุมการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ป้องกันไม่ให้ข้อต่อติดขัด ลดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ และควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกายเป็นประจำ 
  4. คำแนะนำเพื่อลดพฤติกรรมอยู่กับที่ ให้ลุกเปลี่ยนอิริยาบถ ทุก 1-2 ชั่วโมง จากท่านั่ง หรือนอนราบ ด้วยการเดินไปมา และยืดเหยียดร่างกาย

2023 Health and Well-being Thailand • เจตน์ รัตนจีนะ • Jate Ratanachina. All rights reserved.