Work-life Balance ในมิติด้านสุขภาพ

Published on
2 May 2023
Contributors
ดร. นายแพทย์ เจตน์ รัตนจีนะ
อาจารย์ แพทย์เฉพาะทางอาชีวเวชศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถาบันโรคปอดและหัวใจแห่งชาติ มหาวิทยาลัยอิมพิเรียลคอลเลจ ลอนดอน สหราชอาณาจักร
Subscribe to our newsletter
Thank you! Your submission has been received!
Oops! Something went wrong while submitting the form.
“…การงานของตนเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต คนเราทุกคนจะเป็นอะไรขึ้นมาก็เพราะการงานของตน...”
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

ท่ามกลางความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการสื่อสารในยุคโลกาภิวัตน์ และ การทำงานในรูปแบบใหม่ที่แพร่หลายในปัจจุบัน เช่น การทำงานทางไกลผ่านระบบสารสนเทศ (Teleworking) การประกอบธุรกิจตลอด 24 ชั่วโมง (24-hour society) การทำงานแบบยืดหยุ่นเวลาทำงาน (Flextime) ทำให้รูปแบบวิถีชีวิตของคนทำงานเปลี่ยนไป เป็นผลให้เวลาสำหรับการทำงานและชีวิตส่วนตัว ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ชัดเจนเมื่อเทียบกับในอดีต

การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และชีวิตดำเนินอยู่ได้ด้วยการทำงาน การรักษาสมดุลระหว่าง “งาน” และ “ชีวิต” เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เพราะหากเกิดความไม่สมดุลระหว่าง “งาน” และ “ชีวิต” ย่อมเกิดผลกระทบต่อ ทั้งการทำงาน และ ชีวิตส่วนตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพ

สมดุลงานและชีวิต (Work-life balance)

สมดุลงานและชีวิต (Work-life balance) เป็นหัวข้อที่มีการกล่าวถึงในภาคสังคมศาสตร์โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ มาหลายทศวรรษ ทั้งระดับตัวบุคคลและระดับนโยบาย ตั้งแต่หน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศจนถึงระดับองค์กรระหว่างประเทศ

สมดุลงานและชีวิต ประกอบด้วยคำสำคัญ คือ งาน ชีวิต และสมดุล

  1. งาน (Work) จากการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศให้ความหมายเบื้องต้นว่าเป็นงานที่เกิดจากการจ้างงาน ปัจจุบันนอกเหนือจากการจ้างงานในระบบตลาดแรงงานที่มีค่าตอบแทน อาจหมายรวมถึง งานที่ไม่ได้มีค่าตอบแทนเป็นตัวเงิน หรือแม้กระทั่งงานบ้านด้วย
  2. ชีวิต (Life) มีความหมายกว้าง อยู่ในขอบเขตนอกเหนือจากงาน หากพิจารณาว่างานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คำว่าชีวิต หมายถึง ชีวิตส่วนตัว (Personal life) อาจรวมถึงของเขตครอบครัว และชีวิตที่ไม่ใช่ที่ทำงาน 
  3. สมดุล (Balance) หมายถึง ความเท่าเทียมระหว่างสองสิ่ง ความกลมกลืน 

สมดุลงานและชีวิตในมิติด้านสุขภาพ

สมดุลงานและชีวิตมีผลกระทบโดยตรงต่อ สุขภาพ โดยเฉพาะ งานที่มีภาระงานสูง งานที่รีบเร่ง งานที่เกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ งานที่ต้องใช้ความซับซ้อนในการแก้ปัญหา แหล่งงานที่ไม่เหมาะสม ลักษณะดังกล่าวนี้หากขาดการควบคุมและความสามารถโอกาสในการตัดสินใจด้วยตนเองย่อมก่อให้เกิด ความเครียดจากงาน (job strain) ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพ ทั้งทางกายและทางใจ ปัจจัยสำคัญคือ เรื่องเวลาการทำงาน ทั้งในแง่ปริมาณชั่วโมงการทำงาน และ ตารางเวลางาน โดยแยกเป็นประเด็นได้ดังนี้

ผลกระทบของปริมาณชั่วโมงการทำงานต่อสมดุลงานและชีวิตในด้านสุขภาพ ระหว่างระยะเวลาทำงานที่ยาวนาน ตั้งแต่ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความสัมพันธ์กับสุขภาพและความเป็นอยู่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับความเครียด และสุขภาพจิต ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้นส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้น โดยพบแนวโน้มเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพด้วย เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มกาแฟและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ พฤติกรรมเหล่านี้ก่อผลเสียต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตั้งแต่อายุน้อย โรคเบาหวาน ระยะเวลาการทำงานมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับอุบัติการณ์ของ ความเครียด ความเหนื่อยล้า และอาการปวดหลัง

การจัดการสมดุลงานและชีวิต

การจัดการ สมดุลงานและชีวิต มีการกล่าวถึง ทั้งการจัดการในระดับนโยบาย และในระดับตัวบุคคล โดยมากมักออกมาเป็นรูปแบบนโยบายองค์กรในระดับต่างๆ เน้นส่วนสำคัญที่การจัดการเวลาในการทำงาน (Working time arrangements) เพราะมีผลกระทบโดยตรงต่องานโดยเฉพาะคุณภาพของงาน และชีวิตทั้งชีวิตส่วนตัวและครอบครัว

สมดุลงานและชีวิต มักได้รับการบรรจุเป็นนโยบายขององค์กร โดยมุ่งเน้นเรื่องเกี่ยวกับเวลาการทำงาน และครอบครัว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ มีการนำเสนอมาตรการและนโยบายต่างๆในระดับองค์กร ประกอบด้วย

  1. การลางาน ความสามารถในการเลือกวันหยุดงานของพนักงาน การลาต่าง ๆ เนื่องจากเหตุการสำคัญในชีวิตเช่น ลาคลอด ลาเลี้ยงบุตรและให้นมบุตร ลากรณีเกิดการเจ็บป่วยของแรงงานและคนในครอบครัว รวมถึงเพื่อการดูแลในกรณีดังกล่าว เป็นต้น
  2. การให้หลักประกันต่าง ๆ หมายถึง การให้ค่าตอบแทน การให้สิทธิประโยชน์ต่างๆาสำหรับครอบครัว บิดา มารดา และบุตรของแรงงาน 
  3. เวลาสำหรับการทำงานและองค์กร ทั้งในเรื่องการลดชั่วโมงการทำงาน ความสามารถในการออกแบบเวลาในการทำงานของพนักงาน การทำงานนอกเวลางาน การยืดหยุ่นเวลางาน การทำงานทางไกลออนไลน์ เป็นต้น
  4. การดูแลและการบริการต่าง ๆ การเข้าถึงการบริการต่างๆของแรงงาน รวมถึงครอบครัว เช่น การจัดสถานที่ให้นมบุตรในที่ทำงาน เป็นต้น
  5. การฟื้นฟูแรงงาน เช่น การฝึกสอนอาชีพ การฝึกอบรมต่าง ๆ สำหรับแรงงาน การให้ทุนการศึกษา
  6. สวัสดิการอื่น ๆ เน้นที่โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การจัดสวัสดิการ เช่น ระบบการขนส่ง การวางแผนครอบครัว การจัดสถานบริการสุขภาพในองค์กร เป็นต้น

อ้างอิงข้อมูลจาก

เจตน์ รัตนจีนะ, พรชัย สิทธิศรัณย์กุล. สมดุลงานและชีวิต มิติด้านสุขภาพและการประเมิน. จุฬาลงกรณ์เวชสาร  2558 มี.ค. – เม.ย.;60(4): 365 – 71 

2023 Health and Well-being Thailand • เจตน์ รัตนจีนะ • Jate Ratanachina. All rights reserved.